3 ปี กับการทำงานของกรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ – กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ในรอบสามปีที่ผ่านมาสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้ดำเนินการตามมาตรา ๒๔ ของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. ๒๕๔๗ และข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีว่าด้วยสภาคณาจารย์ พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยมีการประชุมกันทุกเดือนเพื่อพิจารณาหารือเรื่องสำคัญต่าง ๆ เพื่อให้ข้อเสนอแนะในกิจการของมหาวิทยาลัยและการพัฒนามหาวิทยาลัยต่ออธิการบดีและสภามหาวิทยาลัย แสวงหาแนวทางร่วมกันเพื่อส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของคณาจารย์และข้าราชการในการปฏิบัติหน้าที่ตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ และพิทักษ์ผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยพร้อมทั้งปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่อธิการบดีหรือสภามหาวิทยาลัยมอบหมาย
ผลงานที่โดดเด่นในรอบสามปีที่ผ่านมา
ในรอบสามปีที่ผ่านมาสภาคณาจารย์ได้ร่วมกันพิจารณาและแก้ไขปรับปรุงข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศต่าง ๆ เพื่อให้ทันสมัยและส่งผลดีกับมหาวิทยาลัยและบุคลากรของมหาวิทยาลัยดังนี้
๑. แก้ไขแนบท้ายประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เรื่องเครื่องแบบปฏิบัติราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พ.ศ. ๒๕๕๙ ให้มีความเหมาะภูมิฐานและมีรูปแบบที่ทำให้บุคลากรที่สวมใส่เกิดความภาคภูมิใจมากยิ่งขึ้น
๒. ผลักดันให้มีการปรับปรุงค่าจ้างของพนักงานมหาวิทยาลัยให้สูงขึ้น จากเดิมที่จ่ายเพียง ๑.๒ สำหรับพนักงานสายสนับสนุน ๑.๓ สำหรับพนักงานสายวิชาการที่มีวุฒิปริญญาโท และ ๑.๔ สำหรับพนักงานสายวิชาการที่มีวุฒิปริญญาเอก โดยให้จ่ายค่าจ้าง ๑.๓ สำหรับพนักงานสายสนับสนุน และ ๑.๕ สำหรับพนักงานสายวิชาการ โดยมหาวิทยาลัยได้มีประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปรับค่าจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๑ ออกมา เพื่อเป็นการเยียวยาพนักงานเก่าที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างแรกข้าวของพนักงานมหาวิทยาลัยที่บรรจุใหม่
๓. ผลักดันให้มีการกำหนดบัญชีขั้นสูงขั้นต่ำของพนักงานมหาวิทยาลัยโดยไม่ใช้ฐานเดียวกับข้าราชการเหมือนที่ผ่านมาจนมหาวิทยาลัยมีประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เรื่อง การกําหนดบัญชีค่าจ้างขั้นต่ำขั้นสูงของพนักงานมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อเป็นการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำขั้นสูงของพนักงานมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับการปรับปรุงค่าจ้างที่สูงขึ้น
๔. ร่วมพิจารณาประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เรื่อง กําหนดค่ากลาง ฐานในการคํานวณ และช่วงเงินเดือนสําหรับการเลื่อนค่าจ่าง พนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อความถูกต้องและเป็นไปตามประกาศเรื่อง การกําหนดบัญชีค่าจ้างขั้นต่ำขั้นสูงของพนักงานมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๕)
๕. ผลักดันให้มหาวิทยาลัยจัดสวัสดิการให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัยโดยสมาชิกสภาคณาจารย์ฯ ได้ร่วมกันเสนอและพิจารณาสวัสดิการต่าง ๆ ที่พนักงานมหาวิทยาลัยควรจะได้รับนอกเหนือจากประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และสวัสดิการที่ได้รับจากสโมสรบุคลากร จนเป็นร่างข้อบังคับเกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงานมหาวิทยาลัยและเสนอมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการออกประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราการให้สวัสดิการพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นเจตนารมย์และข้อเสนอของสภาคณาจารย์ที่ได้เสนอต่อมหาวิทยาลัย
๖. ปรับเปลี่ยนจำนวนสัดส่วนของคณะกรรมการของสภาคณาจารย์และข้าราชการจากเดิมที่มีการแบ่งสัดส่วนจากบุคลากรประเภทต่าง ๆ ประกอบด้วยประธานสภาคณาจารย์ฯ ตัวแทนจากคณาจารย์ที่เป็นข้าราชการจำนวน ๔ คน ตัวแทนจากคณาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยจำนวน ๔ คน ตัวแทนจากข้าราชการสายสนับสนุนจำนวน ๑ คน ตัวแทนจากลูกจ้างประจำจำนวน ๑ คน ตัวแทนจากพนักงานราชการจำนวน ๑ คน ตัวแทนจากพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนจำนวน ๕ คน เป็นให้มีประธานสภาคณาจารย์ฯ ตัวแทนจากคณาจารย์จำนวน ๘ คน ที่เลือกกันเองจากคณะต่าง ๆ คณะละ ๑ คน โดยไม่จำแนกว่าเป็นราชการหรือพนักงานมหาวิทยาลัย และตัวแทนสายสนับสนุนจำนวน ๘ คน ที่เลือกกันเอง โดยไม่จำแนกว่าเป็นสายสนับสนุนประเภทใด เพื่อให้บุคลากรทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นไปตามประกาศมหาวิทยาลัย เรื่องการเลือกตั้งสภาคณาจารย์และข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๖๓
การร่วมผลักดันในระดับประเทศ
๑. ผลักดันการเยียวยาเงินเดือนให้กับข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษาเพิ่ม ๘% ในทุก ๆ เวที โดยการเข้าร่วมสัมมนากับที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปมรภ.) และ และชมรมข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ชขอท.) โดยยื่นหนังสือเรียกร้องการเยียวยาต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
๒. ผลักดันการจ่ายเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัยให้เป็นตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยจ่าย ๑.๕ สำหรับพนักงานสายสนับสนุน และ ๑.๗ สำหรับพนักงานสายวิชาการ โดยร่วมกับ ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปมรภ.) ในทุกเวที และยื่นหนังสือเรียกร้องให้หน่วยงานต่าง ๆ ให้เข้าใจปัญหาและช่วยแก้ไขเพื่อให้การจ่ายเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๔๒
๓. เสนอปัญหาเกี่ยวกับธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัยโดยผ่านที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปมรภ.) และผ่านคณะทำงานขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในเรื่องการสร้างเสริมธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา
การต้อนรับการศึกษาดูงาน
ในรอบสามปีที่ผ่านมาสภาคณาจารย์ได้ร่วมต้อนรับและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาคณาจารย์และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะศึกษาดูงานจากสภาคณาจารย์และข้าราชการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแหล่งดังนี้
๑. มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
๒. มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
๓. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
๔. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
๕. มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
๖. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
๗. มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี
ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาคณาจารย์และข้าราชการยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ดังนี้
๑. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
๒. มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์
๓. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา