สถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม แก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ปลูกกล้วยหอมทองเชิงพาณิชย์ ยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้

สถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม แก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร
ปลูกกล้วยหอมทองเชิงพาณิชย์ ยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้

วันที่ 28 มีนาคม 2568 ผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน พร้อมด้วยบุคลากรสถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ลงพื้นที่โครงการตามพระราชประสงค์หนองพลับ – กลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อพบปะและพูดคุยกับสมาชิกกลุ่มผู้ปลูกกล้วยหอมทอง ก่อนที่จะทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบแรก หลังปลูกมาเป็นระยะเวลา 7 เดือน

สำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตในครั้งนี้ สืบเนื่องจากเดิมนั้นพื้นที่ดังกล่าวสมาชิกกลุ่มประสบกับปัญหาหนี้สิน มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีจึงได้ลงพื้นที่ไปดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกร ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขหนี้สินเกษตรกรในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชประสงค์หนองพลับ – กลัดหลวง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการปรับปรุงพื้นที่รกร้าง จำนวน 15 ไร่ เพื่อทำการปลูกกล้วยหอมทอง จำนวน 5,000 หน่อ สำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตเจ้าหน้าที่จากสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด จะเป็นผู้เข้ามาเก็บเกี่ยวเพื่อควบคุมผลผลิตด้วยตนเองโดยมีการประกันราคาอยู่ที่ผลละ 1.80 บาท

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เผยว่า “พื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชประสงค์หนองพลับ – กลัดหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้แบ่งกลุ่มเกษตรกรออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มปุ๋ยหมัก ผักยกโต๊ะ กลุ่มแปรรูปชา สมุนไพร กลุ่มเลี้ยงเพะและกลุ่มผู้ปลูกกล้วยหอมทองเชิงพาณิชย์ สำหรับกลุ่มผู้ปลูกกล้วยหอมทองเชิงพาณิชย์ นับว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างตรงจุด โดยได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรเป็นอย่างดี เกิดการรวมกลุ่มเพื่อร่วมกันวางแผนดำเนินงานในขั้นตอนต่าง ๆ จนทำให้ประสบความสำเร็จ โดยหลังจากนี้จะนำหน่อกล้วยที่แตกออกมา ๆ ปลูกเพิ่มในพื้นที่ใหม่อีก 5 ไร่ เป็นการลดต้นทุนในการผลิต และจะใช้แนวคิด BCG Model ในการดำเนินงาน เป็นการใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของต้นกล้วย ลดปริมาณขยะ ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เกษตรกร”

นายมานะ บุญสร้าง หัวหน้าฝ่ายการตลาด สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด กล่าวว่า “จากการเข้าไปเห็นพื้นที่ในการเพาะปลูกเห็นได้ถึงความตั้งใจและความเอาใจใส่ของเกษตรกร ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดี ขนาดเป็นไปตามที่ตลาดขแงต้องการ ประกอบกับสหกรณ์การเกษตรท่ายางได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีในการให้ความรู้กับเกษตรกรก่อนที่จะทำการลงหน่อกล้วย ตั้งแต่การปรับคุณภาพดิน การทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในการบำรุงต้น จนถึงขั้นตอนต่าง ๆ ในการดูแล ซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตทางสหกรณ์การเกษตรท่ายางจะนำเข้าสู่กระบวนการ ก่อนที่จะไปจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคต่อไป”