มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เดินหน้าพัฒนา “โกโก้บ้านช้างแรก” เป็นศูนย์เรียนรู้โกโก้ครบวงจรบ้านช้างแรกสู่การท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจ

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เดินหน้าพัฒนา "โกโก้บ้านช้างแรก"
เป็นศูนย์เรียนรู้โกโก้ครบวงจรบ้านช้างแรกสู่การท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจ

วันที่ 21 เมษายน 2568 ผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน พร้อมด้วยอาจารย์ณปภา หอมหวล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และบุคลากรสำนักงานโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นตามศาสตร์พระราชา เข้าพบนายนิมิต วงษ์จินดา นายอำเภอบางสะพานน้อย ณ ที่ว่าการอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นการรายงานผลการดำเนินงานโครงการในปี 2567 และแผนการดำเนินโครงการในปี 2568 ในการจัดทำโครงการศูนย์เรียนรู้โกโก้ครบวงจรบ้านช้างแรกสู่การท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการประสานความร่วมมือทางวิชาการและปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีกับ จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา

นายนิมิต วงษ์จินดา นายอำเภอบางสะพานน้อย เผยว่า “ก่อนอื่นขอเป็นตัวแทนพี่น้องชาวตำบลช้างแรก อำเภอบางสะพานน้อย ในการขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีที่เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากโกโก้แบบครบวงจร ตั้งแต่ปี 2565 ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนในท้องถิ่น และยังทำให้ชุมชนบ้านช้างแรกเป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่งผลให้ชุมชนได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นด้านเศรษฐกิจ ในปี 2566 และในปี 2568 ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีในการร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาให้สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้โกโก้บ้านช้างแรกสู่การท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสร้างรายได้ให้กับประชาชนต่อไป”

จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลช้างแรก เพื่อวางแผนการดำเนินงานในการจัดทำศูนย์การเรียนรู้โกโก้บ้านช้างแรกสู่การท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจ กับนายธิรวัฒน สุดจันทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลช้างแรก และนายนันทปรีชา คำทอง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโกโก้ตะนาวศรีและสมาชิกกลุ่ม เพื่อวางแผนในการจัดทำข้อมูลฐานการเรียนรู้ภายในศูนย์ ประกอบด้วย ฐานการเรียนรู้จำนวน 4 ฐานได้แก่ ฐานที่ 1 โกโก้พืชเศรษฐกิจฐานรากของเกษตรกร ฐานที่ 2 การขยายพันธุ์โกโก้ ฐานที่ 3 โกโก้พืชมหัศจรรย์และฐานที่ 4 โกโก้กับการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อจัดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับหน่วยงานที่สนใจได้เข้ามาศึกษาดูงานตั้งแต่กระบวนการปลูกจนถึงการแปรรูปและการจัดจำหน่าย