นำเสนอผลการลงพื้นที่เพื่อจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ประจำปีงบประมาณ 2564      

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นำเสนอผลการลงพื้นที่เพื่อจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ประจำปีงบประมาณ 2564      

        เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 ตุลาคม 2563 ณ ห้องประชุมณัฐกวี ชั้น 3 อาคารคณะพยาบาลศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ให้การต้อนรับนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายอำเภอทั้ง 8 อำเภอ หัวหน้าส่วนราชการและผู้เกี่ยวข้อง ในโอกาสเดินทางมารับฟังการรายงานสรุปผลการเลือกประเด็นพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี ประจำปีงบประมาณ 2564

     

            ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบให้ดียิ่งขึ้น ทั้งในจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดความเข้มแข็งในสังคม

       

            ผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2564 ได้มีการวางรูปแบบการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับมหาวิทยาลัยฯ  โดยมอบหมายให้แต่ละคณะรับผิดชอบ ตามโครงการ 1 คณะ 1 อำเภอ เพื่อลงพื้นที่ชุมชน กำหนดพื้นที่เป้าหมาย ประเด็นปัญหาในพื้นที่รับผิดชอบ สังเคราะห์ความต้องการของชุมชน เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหา พัฒนาและต่อยอด ภายใต้การดำเนินงาน “ศาสตร์พระราชา” เพื่อให้ชุมชนเกิดการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการในทุกมิติ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชุมชนเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

.       

         โดยมีการแบ่งพื้นที่การดำเนินงาน ประกอบด้วย

คณะพยาบาลศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ รับผิดชอบตำบลหัวสะพาน อำเภอเมืองเพชรบุรี  จัดทำโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและรายได้ชุมชนฐานรากบนการพัฒนาต้นแบบศูนย์เรียนรู้นวัตกรรมผู้สูงอายุ

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ รับผิดชอบอำเภอบ้านลาด ในการจัดทำฐานข้อมูลชุมชน ตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐานจนถึงการพัฒนาผลิตภัฑณ์ OTOP การยกระดับรายได้ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มจากของเหลือใช้ในชุมชน ผลักดันผลผลิตทางการเกษตรตลอดจนเส้นทางชุมชนท่องเที่ยวและการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม

คณะวิทยาการจัดการ รับผิดชอบตำบลยางหย่อง อำเภอท่ายาง จะมีการขยายผลโมเดลการพัฒนาของบ้านในดง ไปพัฒนาสู่บ้านยางหย่องในการเป็นพื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์

คณะครุศาสตร์ รับผิดชอบชุมชนเจ้าพ่อเขาใหญ่ อำเภอชะอำ พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว เส้นทางการค้าโบราณทวารวดีโคกเศรษฐี โดยเริ่มต้นที่ตำบลนางยาง ขยายไปถึงตำบลชะอำ พื้นที่ชุมชนเจ้าพ่อเขาใหญ่

คณะเทคโนโลยีการเกษตร รับผิดชอบอำเภอบ้านแหลม พัฒนาการปลูกมะพร้าวน้ำหอม ตลอดจนการแปรรูป การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า

คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม รับผิดชอบอำเภอเขาย้อย มีการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตรสำหรับบริหารจัดการน้ำและแสงสว่าง การผลิตถ่านชีวมวลคุณภาพสูงและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากถ่านชีวมวล

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รับผิดชอบหมู่บ้านหนองประดู่ อำเภอเขาย้อย จะมีการจัดอบรมการนวดไทยเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง หลักสูตรขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย สามารถนำไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้กับครอบครัว

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รับผิดชอบชุมชนยางน้ำกลัดใต้ อำเภอหนองหญ้าปล้อง เน้นด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้า จักสานและเกษตรกรรม

   

#

รายงานโดย กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี