ผู้ช่วยอธิการบดีฯ ลงพื้นที่ จ.ประจวบฯ นำเสนอโครงการที่จะดำเนินการในปี 64 20 ตุลาคม 202021 ตุลาคม 2020Thitiporn Karaketข่าวสื่อสารองค์กร จำนวนผู้ชม : 13 ผู้ช่วยอธิการบดีฯ ลงพื้นที่ จ.ประจวบฯ นำเสนอโครงการที่จะดำเนินการในปี 64 พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อประสานและเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิภวานี เผือกบัวขาว พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.เมธาวิน สาระยาน ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพชรบุรี เดินทางเข้าพบนายคมสัน เจริญอาจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อนำเสนอโครงการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีจะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปีงบประมาณ 2564 สำหรับในปีงบประมาณ 2564 มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้เตรียมดำเนินโครงการในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 4 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ชุมชนฐานราก มีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จปฐ. ในตำบลวังก์พง อำเภอปราณบุรี พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการยืดอายุการเก็บรักษาผลสับปะรดสด ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจประจำท้องถิ่น ส่วนสับปะรดที่ไม่ผ่านเกณฑ์ของโรงงานรับซื้อก็จะนำมาทำเป็นเอนไซม์โบรมิเลน ผงหมักเนื้อนุ่ม และใบของสับปะรดจะนำมาทำเป็นเส้นใยสับปะรด 2.โครงการส่งเสริมความรัก ความสามัคคี ความเข้าใจสิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น ภายใต้พื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กลุ่มเป้าหมายอยู่ที่อำเภอปราณบุรีและอำเภอทับสะแก เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของสิทธิบนสังคมของความเป็นประชาธิปไตย 3.โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น (OTOP) โดยการคัดเลือกผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับให้มีเกณฑ์และมาตรฐานที่สูงขึ้น จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ 4.โครงการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นโครงการตามบริบทของมหาวิทยาลัยฯ กลุ่มเป้าหมายอยู่ที่อำเภอปราณบุรีและอำเภอทับสะแก โดยอำเภอปราณบุรี จะทำเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม (แม่น้ำปราณบุรี) และอำเภอทับสะแกจะทำเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวอนุรักษ์เชิงเกษตร ทั้งนี้ ยังได้มีการนำเสนอกิจกรรม “วิศวกรสังคม” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี โดยกองพัฒนานักศึกษา ได้จัดทำโครงการก้าวเพื่อความดี ด้วยพลังจิตอาสา คืนผืนป่าให้ช้าง ปีที่ 2 ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เป็นกิจกรรมที่นักศึกษาจิตอาสาของมหาวิทยาลัยฯ ได้รวมพลังกันในการสร้างโป่งเทียมและแอ่งกระทะ ในการเป็นแหล่งอาหารช้าง ลดปัญหาช้างลงมากัดกินพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกร ซึ่งการจัดทำแต่ละโครงการนั้น จะคำนึงถึงสิ่งที่ชุมชนจะได้รับและส่งผลไปถึงความมั่นคงในระยะยาว เน้นการนำสิ่งที่ชุมชนมีมาพัฒนาและต่อยอดให้มีมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อยกระดับรายได้ครัวเรือน โอกาสนี้ นายคมสัน เจริญอาจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ให้ข้อเสนอแนะในการลงพื้นที่เพื่อจัดทำโครงการว่า “ควรคำนึงสิ่งที่ชุมชนมีอยู่แล้วเพื่อนำมาพัฒนา เนื่องจากบริบทของแต่ละชุมชนนั้นมีความแตกต่างกัน เน้นไปที่การลดต้นทุน เมื่อลดต้นทุนลงไปแล้ว รายได้ก็จะเพิ่มขึ้น รายจ่ายก็จะน้อยลง นับว่าเป็นการเพิ่มรายได้ได้อีกช่องทางหนึ่ง” # รายงานโดย กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี Facebook iconFacebookTwitter iconTwitterLINE iconLine