ประกาศมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Coronavirus Diseases 2019 : COVID-19) (ฉบับที่ ๙)

ประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Coronavirus Diseases 2019 : COVID-19) (ฉบับที่ ๙)

          ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (ศบค.) ประกาศให้จังหวัดเพชรบุรีเป็นพื้นที่เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) รอบใหม่ นั้น เพื่อให้การป้องกัน ชะลอ หรือลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๑(๑) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พ.ศ. ๒๕๔๗ จึงกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ภายในมหาวิทยาลัย ดังนี้

          ๑. ให้คณะและโรงเรียนสาธิตจัดให้มีการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ทุกรายวิชา ตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง โดยให้อาจารย์ผู้สอนดำเนินการสอนตามชั่วโมงที่ปรากฏในตารางเรียนตารางสอนที่มหาวิทยาลัยกำหนดเท่านั้น ทั้งนี้ให้สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล และสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ประสานงานแบบมีส่วนร่วมเพื่อจัดสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ให้เหมาะสม เพียงพอ และทันสมัย รองรับการเรียนการสอนออนไลน์ทั้งของนักเรียน นักศึกษา และอาจารย์ผู้สอน ส่วนหน่วยงานสนับสนุนวิชาการอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มงานสื่อสารองค์กร กองพัฒนานักศึกษา งานบริการคลังและทรัพย์สิน ให้ปรับการบริการในรูปแบบออนไลน์ที่นักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ สามารถเข้าถึงได้

          กรณีนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ห่างไกลและยังคงพักอาศัยในหอพักมหาวิทยาลัยหรือบริเวณใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยซึ่งไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงตามประกาศของจังหวัดและที่เกี่ยวข้อง หากมีความประสงค์จะเข้าเรียนในชั้นเรียนที่อาจารย์ผู้สอนดำเนินการสอนแบบออนไลน์ในห้องเรียนออนไลน์ที่มหาวิทยาลัยจัดสรรให้ คณะสามารถพิจารณาอนุญาตเป็นรายกรณี โดยให้มีการคัดกรองและให้อาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดระยะเวลาในการเรียนการสอน ทั้งนี้การจัดห้องเรียนให้ยึดหลักการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นสำคัญ โดยมีระยะห่างไม่น้อยกว่า ๑ เมตร

          กรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับรายวิชาปฏิบัติการที่ต้องจัดการเรียนในห้องปฏิบัติการ เช่น กรณีที่นักศึกษาจำเป็นต้องศึกษาผลการวิจัยหรือผลการทดลองอย่างต่อเนื่องเพื่อสำเร็จการศึกษา ให้คณบดีหรือผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต พิจารณาอนุญาตเป็นรายกรณี และรายงานให้มหาวิทยาลัยทราบโดยทันที ทั้งนี้ต้องมีมาตรการตรวจคัดกรองนักเรียน นักศึกษา ที่เข้ามาภายในมหาวิทยาลัยตามขั้นตอนที่มหาวิทยาลัยกำหนดอย่างเคร่งครัดและทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่มีการปฏิบัติการ

          ๒. การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติของหน่วยรับฝึก กรณีหน่วยรับฝึกมีประกาศปิดทำการ คณะอาจพิจารณาให้ดำเนินการในรูปแบบอื่นๆ ทดแทน เช่น การจัดทำโครงงาน มอบหมายงาน หรือกิจกรรมรูปแบบอื่นๆ ที่เห็นสมควร ทั้งนี้ต้องสามารถเทียบเคียงได้ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่เคยปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนับระยะเวลาการฝึกประสบการณ์ โดยให้คณะพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อพิจารณารูปแบบ วิธีการ รวมถึงเกณฑ์การวัดและประเมินผลเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรและเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

          ๓. ให้บุคลากรสายสนับสนุนทุกประเภท ปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัย (Work from home) ตามความจำเป็นโดยเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในพื้นที่เสี่ยงตามประกาศของจังหวัดและที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณามอบหมายงานและติดตามงานตามความเหมาะสม

          ๔. ในกรณีจำเป็นต้องหารือข้อราชการของมหาวิทยาลัย คณะ สำนัก สถาบัน ให้จัดประชุมแบบออนไลน์ได้

          ๕. ให้คณะ สำนัก สถาบัน กำกับดูแลและรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของหน่วยงาน โดยอาจจัดบุคลากรปฏิบัติหน้าที่เวรตามความเหมาะสม

          ๖. ให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทุกคนปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ โดยปฏิบัติตามขั้นตอนการคัดกรองที่มหาวิทยาลัยกำหนดอย่างเคร่งครัด และต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเสมอ

          ๗. ให้บุคลากรทุกคนงดการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงตามประกาศของจังหวัดและที่เกี่ยวข้อง และงดจัดหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก

จึงประกาศมาให้ทราบและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓


ประกาศมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Coronavirus Diseases 2019 : COVID-19) (ฉบับที่ ๙)