บทความวิจัยเรื่องการเลี้ยงปลานิลแบบลดต้นทุน

บทความวิจัยเรื่องการเลี้ยงปลานิลแบบลดต้นทุน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งกานต์ กล้าหาญ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และนักศึกษาสาขาวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ร่วมกันทำงานวิจัยเรื่องการเลี้ยงปลานิลแบบลดต้นทุน (การเจริญเติบโตแบบชดเชย , compensatory growth) ซึ่งทำการศึกษาภายในพื้นที่ของศูนย์เรียนรู้การเกษตรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และบทความวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ในแมกกาซีนต่างชาติ Hatchery international จากงานวิจัยนี้สามารถลดต้นทุนค่าอาหารปลานิลได้ 37.63% โดยที่ปลานิลมีน้ำหนักตัวและการเจริญเติบโตที่ดี

บทความในนิตยสารกล่าวว่า จังหวัดเพชรบุรีเป็นจังหวัดศูนย์กลางของภาคตะวันตก ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดตาก กาญจนบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ที่มียุทธศาสตร์ในการพัฒนาด้านอาหาร เช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่แน่ชัดอยู่แล้วว่าวัตถุดิบต้นน้ำที่ใช้เป็นแหล่งอาหารเช่นปลานิล ถือเป็นวัตถุดิบอาหารที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ประกอบกับผู้เลี้ยงปลานิลในเขตภาคตะวันตกมีจำนวนมาก มีผู้เลี้ยงในทุกจังหวัด นอกจากนี้ยังรวมไปถึงจังหวัดในภาคอื่น ๆ ด้วย จากการที่ผู้วิจัยได้ลงพื้นที่เลี้ยงปลานิลแดงในกระชังในจังหวัดกาญจนบุรี และผู้เลี้ยงปลานิลดำในจังหวัดเชียงราย ได้พบปัญหาการเลี้ยงปลานิลในลักษณะเดียวกันคือ ปลาตัวแบน เนื้อไม่หนา สันเนื้อที่คอไม่ขึ้น และมักจะอ่อนแอ และตายในช่วงที่มีการเปลี่ยนเบอร์อาหาร ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่พบตลอดการเลี้ยงใน นอกจากนี้ปัญหาที่พบในปัจจุบันจะเชื่อมโยงกับอาหารที่เลี้ยง เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าต้นทุนอาหารที่สูงขึ้นจากวัตถุดิบแหล่งโปรตีนในอาหารได้แก่ ปลาป่นที่มีราคาสูงขึ้น การเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตามต้นทุน 60 – 7 0% ของต้นทุนทั้งหมดมาจากอาหาร (Halver and Hardy, 2002) ดังนั้นถ้าสามารถจะใช้อาหารที่มีต้นทุนต่ำกว่า ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็สามารถที่จะลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 20 – 30% ซึ่งคือส่วนที่เป็นกำไรนั่นเอง และการจัดการรูปแบบการใช้อาหารโดยนำความรู้ทางด้านการเจริญเติบโตชดเชยมาประกอบ จะเป็นการลดต้นทุนอาหารได้เป็นอย่างมาก และใช้ประโยชน์จากอาหารได้เต็มประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถลดของเสียที่เป็นเศษอาหารเหลือ และสิ่งขับถ่ายจากปลาได้อย่างมาก ทางผู้วิจัยเล็งเห็นแล้วว่าการศึกษาในครั้งนี้สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งในด้านลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะสามารถเพิ่มส่วนของกำไรจากการเลี้ยง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย และเกษตรกรสามารถปฏิบัติเองได้จริงในระดับฟาร์มโดยไม่ต้องเพิ่มต้นทุนใด ๆ การจัดการอาหาร อัตราการให้อาหารและการกินอาหารให้เหมาะสมกับการกินอาหารของปลานิล เป็นปัจจัยที่จะทำให้ใช้อาหารได้ในจำนวนที่เหมาะสม และลดลงกว่าปกติแต่สามารถทำให้ปลามีการเจริญเติบโตได้อย่างปกติ ซึ่งเป็นวิธีการลดต้นทุนอาหารได้ โดยวิธีการจัดการที่ใช้ในการศึกษามีหลายรูปแบบแต่วิธีที่ได้ผลดีที่สุดคือ การใช้อาหารเม็ดลอยน้ำโปรตีน 18 % เสริมโปรตีนข้น* 35 กรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม ใช้เดือนแรกของการทดลอง สองเดือนสุดท้ายใช้อาหารโปรตีน และให้อาหารแบบกินจนอิ่ม แบบวันเว้นวัน จะทำให้ปลานิลแดงมีการเจริญเติบโตดีที่สุด โดยค่า FCR เท่ากับ 0.81 สามารถลดต้นทุนอาหารได้ 37.63% ซึ่งต้นทุนอาหารคิดเป็น 60% ของต้นทุนทั้งหมด เท่ากับสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 1 ใน 3 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด

กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี