มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี สืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้สมกับการเป็น “คนของพระราชา”

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี สืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้สมกับการเป็น “คนของพระราชา”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ และนักศึกษา ให้การต้อนรับนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และหัวหน้าส่วนราชการ ในโอกาสเดินทางเปิดนิทรรศการ “รากไทย ณ เมืองเพ็ชร ครั้งที่ 3 ตอน หลักการทรงงาน” และกล่าวปาฐกถา หัวข้อ “เพชรบุรีปฐมบทการทรงงาน และคุณูปการต่อสังคมไทย” เมื่อช่วงเช้าวันที่ 26 มีนาคม 2564 ณ ฐานการเรียนรู้ทฤษฎีใหม่สู่ดอนขังใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

คำกล่าวต้อนรับ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า  มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรีเป็นหนึ่งใน 38 มหาวิทยาลัยราชภัฎที่ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งคำว่า “ราชภัฎ” หมายถึงคนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน นั่นหมายถึงภารกิจของมหาวิทยาลัยที่ต้องตระหนักว่าเราอยู่กับท้องถิ่น อยู่กับชุมชน จะต้องสนองพระราชปณิธานของพระองค์ท่านอย่างเต็มความสามารถ นอกจากงานสอน งานวิจัย งานบริการวิชาการ และอื่น ๆ ตามบทบาทหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษา กจกรรม “รากไทย ณ เมืองเพ็ชร ตอนหลักการทรงงาน” เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เปรียบเสมือนการสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน รวมถึงยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีพื้นที่ในการจัดกิจกรรม ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพ และเพื่อให้เกิดการพัฒนาในวิชาชีพ

อาจารย์พนัส ชัยรัมย์ ประธานสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การจัดการสอนในปัจจุบันมุ่งพัฒนาคุณลักษณะบัณฑิตมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ทางสังคมและความต้องการของผู้ประกอบการ หากบัณฑิตมีคุณลักษณะที่สำคัญที่สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าว จึงเป็นการสะท้อนถึงคุณภาพของการจัดการศึกษาในสภาพสังคม ที่ต้องการบัณฑิตที่มีทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21  ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนเฉพาะในห้องเรียนจึงยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนาทักษะให้กับผู้เรียน สาขาวิชาการพัฒนาชุมชนจึงจัดทำโครงการเพิ่มสมรรถนะในการเรียนรู้ของนักศึกษา โดยใช้กิจกรรมการเรียนการสอนแบบ Blended learning quality และสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 จากผู้มีประสบการณ์ตามความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน

สำหรับวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ให้กับนักศึกษาสาขาวิชาการพัฒนาชุมชนจากผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญ สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ของนักพัฒนาชุมชนกับเครือข่ายนักพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบุรี

โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรียังได้ให้เกียรติเยี่ยมชมแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ และนิทรรศการกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น การทำภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ การทำปูนปั้นเมืองเพชรบุรี การทำลูกช่วง การทำเข็มกลัด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการบรรยายในหัวข้อ “หลักการทรงงาน” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ

#

กลุ่มงานสื่อสารองค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี