มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ร่วมนำเสนอผลงานวิจัย “การจัดการการเรียนรู้โรงเรียนเกษตรกรตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างมีส่วนร่วม” ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2564
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณวิภา มัธยมนันท์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.ทัดทอง พราหมณี นักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ร่วมเข้าเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีเปิดงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2564 (Research Expo 2021) เมื่อวันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ที่ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” และเพื่อให้เป็นเวทีระดับชาติในการนำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิจัยที่มีศักยภาพพร้อมใช้ประโยชน์และขับเคลื่อนให้เกิดการเผยแพร่องค์ความรู้ กระจายโอกาสการเข้าถึงฐานข้อมูลความรู้การวิจัยและนวัตกรรม อีกทั้งเป็นกลไกส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ เชื่อมโยงผู้ผลิตงานวิจัยและผู้ใช้ประโยชน์ โดยการบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างองค์กรและเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ
มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบนิทรรศการ กลุ่มเรื่องงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคมและสิ่งแวดล้อม ผลงานวิจัยเรื่อง การจัดการการเรียนรู้โรงเรียนเกษตรกร (Farmer Academy) ตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ของ อาจารย์ ดร.ทัดทอง พรามณี และคณะ ที่มีที่มาจากพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่มุ่งให้เกษตรกรครัวเรือนทำการเกษตรในพื้นที่ขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพึ่งพาตัวเองได้
โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณวิภา มัธยมนันท์ เป็นผู้ถวายของที่ระลึก จำนวน 2 ชิ้น ได้แก่ ศิลปะสะท้อนสิ่งแวดล้อมอำเภอชะอำบนน้ำเต้า ซึ่งมีความหมายถึงการจัดการเรียนรู้ผ่านการผลิตผลทางการเกษตรพื้นบ้านในโรงเรียนเกษตรกร เพื่อเกิดการตระหนักความสำคัญของ “ดิน น้ำ ป่า” นางพันธุรัตน์ ทะเล ถ้ำค้างคาว สื่อถึงทรัพยากรเด่นของอำเภอชะอำและความสำคัญของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และกระเป๋าแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศชุมชนอำเภอชะอำ ที่แสดงถึงความร่วมมือของโรงเรียนเกษตรกรและการท่องเที่ยวโดยชุมชนในอำเภอชะอำ เป็นศิลปะที่ชาวบ้านในพื้นที่บอกเล่าสิ่งที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติส่วนรวมที่ตนหวงแหนและร่วมดูแลรักษา ผ่านภาพวาดบนวัสดุธรรมชาติ โดยสื่อเป็นภาพภูเขานายางและถ้ำค้างคาวซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศและการอนุรักษ์
#กลุ่มงานสื่อสารองค์การ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี