ลงพื้นที่บ้านดอนขุนห้วย พัฒนาและต่อยอดอัตลักษณ์ชุมชน

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีลงพื้นที่พัฒนาคุณภาพชีวิตที่บ้านดอนขุนห้วย
ด้วยการนำของเหลือใช้มาพัฒนาและต่อยอดเป็นสินค้าอัตลักษณ์ชุมชน

           สำนักงานโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการการทอผ้าไหมลายอัตลักษณ์ดอนขุนห้วย (ลายตาสับปะรด) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ณ หอประชุมสกรณ์การเกษตรดอนขุนห้วย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยมีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม

          สืบเนื่องจากนโยบายของสภามหาวิทยาลัยฯ ที่มอบหมายให้มหาวิทยาลัยฯ ลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลและเปิดเวทีรับฟังปัญหาของชาวตำบลดอนขุนห้วย พบว่าเดิมนั้นกลุ่มสตรีดอนขุนห้วยมีการปลูกหม่อน เลี้ยงไหมและทำการทอผ้าไหมมาตั้งแต่อดีต จึงต้องการที่จะพัฒนาลวดลายผ้าที่เป็นของตนเองโดยมาจากอัตลักษณ์พื้นถิ่นของดอนขุนห้วย นั่นก็คือการออกแบบลวดลายเป็นตาสับปะรด สินค้าประจำพื้นถิ่น ซึ่งมีความทันสมัยและสะดวกต่อการนำไปออกแบบตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายหรือพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ จึงได้นำผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการออกแบบลายผ้ามาออกแบบลวดลายและสีสันผ้าทอร่วมกับคนในพื้นที่ เพื่อให้ได้ลายที่ตรงความต้องการ ด้วยการใช้เส้นใยฝ้ายผสมใยสับปะรดจากอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ร่วมกับเส้นใยไหมชุมชนดอนขุนห้วย

          ขณะเดียวกันยังได้มีการจัดโครงการการสร้างมูลค่าเพิ่มวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากใบสับปะรดสู่บรรจุภัณฑ์ผ้าไหมอัตลักษณ์ดอนขุนห้วย ด้วยการใช้ใบสับปะรดนำมาทำเป็นกระดาษและรีดเส้นใยเพื่อการจักสานและทอผ้า ช่วยลดปัญหามลพิษจากการเผาต้นสับปะรดทิ้งหลังจากการเก็บเกี่ยว โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ3 ผลิตภัณฑ์ คือ กระดาษจากใบสับประรด กล่องกระดาษและถุงกระดาษ ซึ่งเกิดจากต้นทุนด้านวัตถุดิบและภูมิปัญญาของชาวชุมชนดอนขุนห้วยมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการจัดจำหน่าย

        ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะเป็นการลดรายจ่ายจากการจัดซื้อกล่องและถุงบรรจุสินค้าสำเร็จรูปที่ยังไม่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน และเมื่อเกิดความชำนาญจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิต จำหน่ายเพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับสมาชิกในชุมชน เป็นการใช้ทรัพยากรทางการเกษตรอย่างเหมาะสมและคุ้มค่าเพื่อลดรายจ่ายและสร้างรายได้สู่ชุมชน ยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในชุมชนดอนขุนห้วยได้ในระยะยาวและเกิดความยั่งยืน

# กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี