คณะวิทยาการจัดการ จัดนิทรรศการงานบริการวิชาการ

คณะวิทยาการจัดการ โชว์จุดเด่นการบูรณาการความรู้สู่ท้องถิ่น ผ่าน 3 บูธการเรียนรู้ภายในงานนิทรรศการ
งานบริการวิชาการและงานวิจัย ปี 2565

           อาจารย์ ดร.วิวิศณ์ สุขแสงอร่าม คณบดีคณะวิทยาการจัดการ พร้อมด้วยนักวิจัย คณาจารย์และบุคลากร เข้าร่วมจัดนิทรรศการการนำเสนอผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์พัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ประจำปี 2565 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนม์ 70 พรรษา “ทศกษัตริย์นักพัฒนาสู่แผ่นดินทอง” ที่สถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 15 – 16 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมพะนอมแก้วกำเนิด อาคารสุเมธตันติเวชกุล มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

          การจัดนิทรรศการของคณะวิทยาการจัดการ เน้นย้ำการแสดงขบวนการใช้ความรู้ของงานวิจัยตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ กล่าวคือ เน้นใช้องค์ความรู้ตั้งแต่การวิเคราะห์ วางแผน ดำเนินงาน และสร้างองค์ความรู้ให้ชุมชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการท้องถิ่น ทั้งนี้ในปี 2565 ทางคณะได้ดำเนินโครงการไปทั้งสิ้นจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 

          (1) โครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบเกษตรปลอดสาร อาหารปลอดภัยตำบลยางหย่อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ในประเด็น “เกษตรปลอดสาร อาหารปลอดภัย ของดียางหย่อง” เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเพิ่มมูลค่าทางการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนของตำบลยางหย่อง ในนามกลุ่ม “เพชรยางหย่อง”                (2) โครงการพัฒนาและยกระดับสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP ให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ปี 2565 ได้พัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน จำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำผึ้งป่าแท้พญาเกสร 108, กาแฟดริปไขชะมดเช็ด, โกโก้ไขชะมดเช็ด, กาแฟโรบัสต้าคั่วโป่งลึก-บางกลอย, น้ำพริกเผาสับปะรดบ้านห้วยกระสิงข์, ปลาสลิดแดดเดียวบางเค็ม, ขนมบัวหิมะไส้สับปะรดบ้านยางชุมกุยบุรี, เครื่องดื่มชาตะไคร้บ้านห้วยเกรียบ, ย่ามผ้าทอมือโป่งลึก-บางกลอย, เซ็ตรักษ์โลกแปลงใหญ่มะพร้าวเขาล้าน

        (3) นวัตกรรมการพัฒนาและยกระดับเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เกลือทะเลไทยสู่การยอมรับเชิงพาณิชย์ ภายใต้แบรนด์ “De Sel (เดอ-เซล)” ในงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนม์ 70 พรรษา”ทศกษัตริย์นักพัฒนาสู่แผ่นดินทอง”

          นอกจากนี้คณะวิทยาการจัดการยังได้ร่วมจัดแสดงสินค้าตลาดชุมชน ภายใต้โครงการ U2T จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบลเปลี่ยนอนาคตคน และชุมชนไทย มีการตั้งร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจาก 2 พื้นที่ ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์กระเป๋าสานจากเส้นพลาสติก และขนมทองม้วนน้ำตาลโตนด จากบ้านยางหย่อง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ภายใต้แบรนด์ “เพชรยางหย่อง” 2) ผลิตภัณฑ์น้ำมันเหลืองภูมิไพรมหามงคล จากบ้านในดง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ประกอบด้วยน้ำมันเหลืองภูมิไพร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของตำบลบ้านในดง โดยนำความเชื่อและตะกรุดสาริกาซึ่งเป็นวัตถุมงคลจากพระอาจารย์เกจิชื่อดัง ของวัดชายนา ในตำบลบ้านในดง มารวมกับน้ำมันเหลืองเพื่อเพิ่มความศิริมงคลให้แก่ผู้ใช้ และได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้มีความเป็นเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น

# กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี