มรภ.เพชรบุรี kick off 100 ปี ด้วยการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO สู่การสร้างรายได้เพิ่มอย่างยั่งยืน ด้วย Soft Power”

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี kick off 100 ปี ด้วยการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์
ด้านอาหาร UNESCO สู่การสร้างรายได้เพิ่มอย่างยั่งยืน ด้วย Soft Power”

              วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุมพะนอมแก้วกำเนิด อาคารสุเมธตันติเวชกุล มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นประธานเปิดงาน “100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO สู่การสร้างรายได้เพิ่มอย่างยั่งยืน ด้วย Soft Power” โดยมีนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายณัฏฐชัย นําพูลสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ส่วนราชการ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักวิจัยตลอดจนผู้สนใจเข้าร่วมงาน
            ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า “การจัดงานในครั้งนี้เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และจัดแสดงผลงานของแผนงานวิจัยเพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO สู่การเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีที่ว่า “ภายในปี 2570 เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านอาหาร การท่องเที่ยวและวิทยาการสุขภาพ ภายใต้ความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ด้วยการบูรณาการศาสตร์ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการวิจัย แผนงานวิจัยเพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO สู่การเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นโครงการบริหารจัดการเพื่อให้ได้ผลงานที่ตอบสนองต่อแผนกิจกรรมส่งเสริมงานวิจัย Food Valley ภูมิภาคภาคกลางตอนล่าง เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐโดยมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ 4 ภาคส่วน (Quad Helix) ได้แก่ ผู้ประกอบการ OTOP/SMEs ภาคเอกชน ภาครัฐ และมหาวิทยาลัยเครือข่าย การตอบสนองนโยบายความเลิศด้านอาหาร การท่องเที่ยวและวิทยาการสุขภาพของ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และสร้างความเข้าใจเชิงนโยบายการสนับสนุน Soft Power สำหรับการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO เพื่อให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นได้ต่อไปอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน”
           ด้านนายณัฏฐชัย นําพูลสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เผยว่า “จังหวัดเพชรบุรี ได้ชื่อว่าเป็น เมืองสามรส ทั้งรสเปรี้ยวจากมะนาว รสหวานจากน้ำตาลโตนดและรสเค็มจากเกลือทะเล นอกจากนี้ยังเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่หลากหลาย เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ปลูกต้นตาลและผลิตน้ำตาลโตนดมากที่สุดในประเทศไทย สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดเพชรบุรีที่ว่า “เพชรบุรีเมืองต้นแบบตามศาสตร์พระราชา น่าอยู่ น่ากิน น่าเที่ยว สู่เมืองสร้างสรรค์ระดับสากล อย่างยั่งยืน” และการที่ยูเนสโกประกาศให้จังหวัด “เพชรบุรี” เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลกด้านอาหาร ประจำปี 2564 แสดงให้เห็นว่า เพชรบุรีนอกจากจะเป็นเมืองที่มีความสร้างสรรค์ในวิถีความเป็นอยู่แล้ว สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองก็คืออาหาร โอกาสนี้ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน ภายใต้การเป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญในการวิจัยด้านอาหาร การท่องเที่ยวและการโรงแรม ที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล แบบครบวงจรตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ที่เชื่อมโยงกับการบูรณาการเชิงพื้นที่ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ภาคชุมชนสังคม บนพื้นฐานของความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรีมาอย่างต่อเนื่องและเป็น”
          ขณะที่กิจกรรมภายในงาน ได้รับเกียรติจากนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ได้มาบรรยายพิเศษ เรื่องนโยบายการสนับสนุน Soft Power ของกระทรวง อว. รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรศักดิ์ อาลัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ด้านการวิจัย นวัตกรรม นโยบายและแผนงาน บรรยายสรุปผลการดำเนินงานแผนงานวิจัยเพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO สู่การเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ปีที่ 1 ตลอดจนนำชมผลงานวิจัยผ่านนิทรรศการ 14 นิทรรศการ เช่น อาหารเพชรบุรีอัตลักษณ์จากความหลากหลายของทรัพยากรและรสมือแม่ครัว การยกระดับวัตถุดิบอัตลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี การยกระดับอาหารท้องถิ่นเมืองเพชรสู่มาตรฐานสากล การประเมินและการวัดผลการดำเนินโครงการเพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารปลอดภัย ต้นกล้ามะละกอพันธุ์ปลักไม้ลายทนโรคในการเพิ่มปริมาณและคุณภาพการผลิตเพื่อยกระดับรายได้เกษตร การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดเพชรบุรีสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล โครงการศึกษาและสำรสจช่างศิลป์ท้องถิ่นจังหวัดเพชรบุรี เพื่อการยกระดับคุณค่าและพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นต้น

 

#มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
#ราชภัฏเพชรบุรีกับการพัฒนาระบบการบริหารองค์กรที่มีประสิทธิภาพ
#100ปีราชภัฏเพชรบุรี