มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เปิดตัว “ชุมชน Soft Power กับการพัฒนาท้องถิ่น” ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เปิดตัว “ชุมชน Soft Power กับการพัฒนาท้องถิ่น”
ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

             วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมเอกศักดิ์บุตรลับ อาคารสุเมธตันติเวชกุล มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน กล่าวให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมเสวนา “ชุมชน Soft Power กับการพัฒนาท้องถิ่น” ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชน “Soft Power บนพื้นฐานอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

            การเสวนา “ชุมชน Soft Power กับการพัฒนาท้องถิ่น” มีผู้แทนจากชุมชน Soft Power จากทั้ง 2 จังหวัด 8 พื้นที่ เข้าร่วมการเสวนา แบ่งเป็นจังหวัดเพชรบุรี 5 พื้นที่ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านอาหาร ชุมชนถ้ำรงค์ ด้านท่องเที่ยว เส้นทางชุมชนบางตะบูน-หาดเจ้าสำราญ ด้านศิลปะการแสดงและดนตรี ชุมชนริมน้ำคลองกระแชง ด้านศิลปะ ทัศนศิลป์และแฟชั่น ชุมชนวัดกุฏิ บางเค็ม และด้านเทศกาล ประเพณี กีฬาและการละเล่น ชุมชนสลากภัตหนองกะปุ ขณะที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มี 3 พื้นที่ 2 ด้าน ได้แก่ ด้านศิลปะและงานหัตถกรรม บ้านหนองเหียง หัวหิน ด้านท่องเที่ยว (ประจวบคีรีขันธ์ตอนล่าง) บ้านหินเทิน และด้านท่องเที่ยว (ประจวบคีรีขันธ์ตอนบน) ปราณบุรี – สามร้อยยอด สำหรับชุมชน Soft Power ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้เข้าไปดำเนินการ มุ่งเน้นการได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ให้ชุมชนเกิดพื้นที่อัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น มีผลิตภัณฑ์ Soft Power ที่นำอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เป็นสินค้า พร้อมทั้งยกระดับชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือการเรียนรู้ Soft Power ที่มีอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

            จากนั้นในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ได้มีการจัดกิจกรรมแถลงข่าวและเปิดตัวชุมชน Soft Power โอกาสนี้ ได้รับเกียรติจากพลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ให้เกียรติมอบนโยบายและให้กำลังใจคณะทำงาน ที่ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยการน้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสู่การขับเคลื่อนพันธกิจให้สอดคล้องกับรัฐบาลและมหาวิทยาลัย จนทำให้เกิดชุมชนต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม โดยมีนางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายองครักษ์ ทองนิรมล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ส่วนราชการ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา เข้าร่วม

             อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เผยว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีมีความยินดีที่ได้ทำงานพัฒนาท้องถิ่นร่วมกับจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในการขับเคลื่อน Soft Power ทั้งพัฒนา สืบสาน ต่อยอดงานผลิตภัณฑ์ชุมชนและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ด้วยการนำคณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยลงไปพัฒนาชุมชน และในโอกาสที่มหาวิทยาลัยมีอายุการก่อตั้งครบ 100 ปี ในปี 2567 มหาวิทยาลัยจะพัฒนาในเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้ชุมชนในเขตพื้นที่บริการวิชาการของมหาวิทยาลัยทั้ง 2 จังหวัด”

            รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า “ขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ที่ได้เห็นความสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการนำเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่มาสร้างจุดเด่น จนสามารถพัฒนาเป็นจุดขาย สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งในระดับจังหวัดก็ได้มีการขับเคลื่อน Soft Power สานนโยบายรัฐบาล และได้ดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีในการยกระดับสินค้าและบริการ ทำให้มีคนรู้จัก Soft Power ของจังหวัดเพชรบุรีมากขึ้น”

          ด้านรองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้กล่าวถึงความร่วมมือและความสำเร็จในครั้งนี้ว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง แม้ว่าพื้นที่ ๆ เข้ามาดำเนินการในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ห่างจากมหาวิทยาลัยเกือบ 100 กิโลเมตร แต่มหาวิทยาลัยก็ยังลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนด้วยการนำเอกลักษณ์หรือสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่มาสร้างจุดขายเป็นของตนเอง โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการพัฒนา สร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง”

 

#มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
#ราชภัฏเพชรบุรีกับการพัฒนาระบบการบริหารองค์กรที่มีประสิทธิภาพ
#100ปีราชภัฏเพชรบุรี