จาก “โกโก้” ชุมชนช้างแรก สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สร้างอาชีพอย่างยั่งยืน

จาก “โกโก้” ชุมชนช้างแรก สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สร้างอาชีพอย่างยั่งยืน

               ชุมชนช้างแรก อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นชุมชนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้ลงมาพัฒนาร่วมกับประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2564 ในช่วงนั้นชุมชนประสบปัญหาในเรื่องของการจำหน่ายผลผลิตราคาตกต่ำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีจึงได้เปิดเวทีประชาคม จนทำให้ได้สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการพัฒนาคือ การปลูกโกโก้ที่ได้มาตรฐานพร้อมสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจากการดำเนินการทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 8 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย โกโก้ผง โกโก้ 3 in 1 โกโก้นิปส์ โกโก้บัตเตอร์ ชาเปลือกโกโก้ แป้งบราวนี่สำเร็จรูป สบู่โกโก้ (แบบก้อน) และสบู่เหลวโกโก้บัตเตอร์ ซึ่งทั้ง 8 ผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันสามารถจำหน่ายสร้างรายได้กับพี่ประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังได้พัฒนาชุมชนช้างแรก เป็นชุมชนดิจิทัลที่นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตในเรื่องสุขภาพและการศึกษา

                ผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และที่สำคัญคือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ๆ ได้ร่วมกันพัฒนาให้เป็นชุมชนต้นแบบในการบูรณาการและเป็นชุมชนต้นแบบแห่งการยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งหวังว่าชุมชนช้างแรกจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่น ๆ ที่จะได้พัฒนาตัวเอง ซึ่งทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีพร้อมที่จะเข้าไปให้การช่วยเหลือและส่งเสริมในสิ่งที่ชุมชนมีความต้องการ”

               อาจารย์นราธร สัตย์ซื่อ ประธานสาขาวิชาเทคโนโลยีและศิลปะการประกอบอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ เผยว่า “ระยะเริ่มต้นของการดำเนินโครงการคือเราได้เข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน มีกระบวนการผลิตที่ถูกต้อง ผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพ จึงเริ่มต้นด้วยการแปรรูปเป็นโกโก้ผง และโกโก้ 3 in 1 จากนั้นตรวจคุณค่าทางโภชนาการ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชุมชน ก่อให้เกิดเป็นกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน ชุมชนสามารถผลิตและจำหน่ายได้จริง มีการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ มีการศึกษาอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด”

               นายนันทปรีชา คำทอง ประธานเครือข่ายวิถีเกษตรธรรมชาติ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้กล่าวขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ที่ได้เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนในการยกระดับคุณภาพสินค้าและสร้างมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่กระบวนการถ่ายทอดความรู้จนถึงการแปรรูปผลผลิต ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์ในการเพิ่มรายได้และสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน

             จากการลงพื้นที่พัฒนาชุมชนช้างแรก นอกจากทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้มีความสุขมากขึ้น และยังเป็นการบูรณาการกับรายวิชาเรียนของนักศึกษา ด้วยการนำผลิตภัณฑ์ของโกโก้ไปพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในการสร้างเป็นเมนูอาหาร ส่งเสริมการเรียนรู้ควบคู่การพัฒนาท้องถิ่น

 

#ราชภัฏเพชรบุรีกับการพัฒนาระบบการบริหารองค์กรที่มีประสิทธิภาพ
#100ปีราชภัฏเพชรบุรี