มรภ.เพชรบุรี มอบตู้อบฆ่าเชื้อด้วยระบบ UV-C 15 ขนาดเล็ก ให้กับโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์
เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 29 มีนาคม 2563 ณ ศูนย์เฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมมอบตู้อบฆ่าเชื้อด้วยระบบ UV-C 15 ขนาดเล็ก (UV-C Lamp) และหน้ากากป้องกันใบหน้า (face shield) ให้แก่แพทย์หญิงธวัลรัตน์ ดุรุงค์ธรรม หัวหน้างานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ เพื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์และบริการผู้ป่วยที่มาใช้บริการ
แพทย์หญิงธวัลรัตน์ ดุรุงค์ธรรม หัวหน้างานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า “ปัญหาที่โรงพยาบาลทุกแห่งกำลังประสบอยู่ในขณะนี้หลังต้องรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 คือการขาดแคลนหน้ากากอนามัย จึงได้ค้นหาวิธีการในการแก้ไข ประกอบการวิจัยพบว่าหลอดไฟ UV-C สามาถนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อได้ จึงได้ประสานมายังมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี หลังจากทราบว่าทางมหาวิทยาลัยฯ ได้กำลังมีการทำตู้อบฆ่าเชื้อด้วยระบบ UV-C 15 เพื่อขอรับการสนับสนุนตู้อบดังกล่าวไปใช้ในการฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัยให้กับผู้ป่วย ซึ่งหลังจากนี้หากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เบาบางลง จะนำไปใช้กับอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อลดระยะเวลาส่งกลับในการฆ่าเชื้อเครื่องมือจากส่วนกลาง ขอขอบคุณทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีที่ได้มอบตู้อบฆ่าเชื้อให้ ตนเองในฐานะผู้แทนจากโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ จะนำไปใช้ให้เกิดความคุ้มค่าและเป็นประโยชน์กับผู้มารับบริการให้มากที่สุด”
อาจารย์ ดร.อิทธิพัฒน์ รูปคม อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า “หลังจากที่ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หลายท่านได้ค้นหาวิธีในการป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ แต่ลืมคำนึงถึงสิ่งของหรือของใช้ต่างๆ ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น โทรศัพท์ กุญแจ เสื้อผ้า กระเป๋าสตางค์ที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน จึงได้คิดค้นตู้อบฆ่าเชื้อด้วยระบบ UV-C 15 ขนาดเล็ก (UV-C Lamp) ซึ่งหลอด UV-C เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สามารถทำลายเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็น แบคทีเรีย ไวรัส ราเส้นใย ยีสต์ ได้ สำหรับวิธีการใช้งาน นำสิ่งของที่ต้องการฆ่าเชื้อวางลงในตู้และเสียบปลั๊กเปิดไฟฆ่าเชื้อ เป็นเวลา 2 -5 นาที จากนั้นสามารถเปิดตู้แล้วนำสิ่งของออกมาใช้ได้เลย โดยมีอายุการใช้งาน 20,000 ชั่วโมง ภายในตู้มีแผ่นสะท้อนแสง เพื่อให้แสงจากหลอด UV-C ได้เข้าไปฆ่าเชื้อสิ่งของ และในอนาคตจะมีการพัฒนาเป็นตู้ฆ่าเชื้อแบบสายพาน เพื่อนำไปใช้ในสถานที่ต่างๆ ลดระยะเวลาในการยืนรอ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้กล่าวถึงแนวทางในการช่วยเหลือชุมชนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ว่า “ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้มีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ส่วนนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบ ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาในเรื่องของการแบ่งชำระค่าหน่วยกิต เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง ในส่วนของชุมชน ได้มีการประสานงานกับโรงพยาบาลในจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่บริการวิชาการของมหาวิทยาลัยฯ โดยทางโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ ได้ขอรับการสนับสนุนตู้อบฆ่าเชื้อด้วยระบบ UV-C 15 เพื่อนำไปใช้ในโรงพยาบาล และยังได้รับการประสานจากโรงพยาบาลหัวหินในการขอรับการสนับสนุนหน้ากากป้องกันใบหน้า (face shield) ที่จัดทำโดยจิตอาสามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี โดยจะมีการมอบให้ในวันที่ 30 มีนาคม นี้ ตลอดจนโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดเพชรบุรีที่ได้ขอรับการสนับสนุนอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่างๆ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ กำลังเร่งมือในการดำเนินการ และหลังจากนี้จะมีการอบรมอาชีพระยะสั้นให้กับผู้ได้รับผลกระทบในท้องถิ่นเพื่อให้มีงานทำอยู่ที่บ้าน สร้างอาชีพ สร้างรายได้
นอกจากนี้หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อแก้ไขการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และให้มหาวิทยาลัยเตรียมเป็นโรงพยาบาลสนามหากโรงพยาบาลมีพื้นที่ไม่เพียงพอ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะเรามีสถานทีโรงแรมเพชรน้ำหนึ่ง ที่มีประมาณ 20 ห้องไว้รองรับประชาชน
#
รายงานโดย กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี