มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จัดโครงการ “ปันน้ำใจ ให้ช้างป่า” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ข่าวสื่อสารองค์กร, 23 กรกฎาคม 2018
มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จัดโครงการ “ปันน้ำใจ ให้ช้างป่า” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 อาจารย์ ดร.วนิดา มากศิริ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาคณะเทคโนโลยีการเกษตร อาจารย์ประเสริฐ ศรีนวล รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ และ อาจารย์ปองพล รักการงาน รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ได้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และ นักเรียนโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จัดทำโครงการ “ก้าวเพื่อความดี ด้วยศาสตร์พระราชา คืนผืนป่าให้ช้าง” ร่วมกับมูลนิธิช้างป่าบ้านพ่อ ภาคเอกชน ชมรม พลังมวลชน จิตอาสา พี่น้องประชาชน นักเรียน นักศึกษา จัดโครงการ “ปันน้ำใจ ให้ช้างป่า” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เพื่อการอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่าในผืนป่ากุยบุรี โดยการปลูกหญ้า พืชอาหารช้าง ทำความสะอาดและเติมน้ำกระทะน้ำ ทำโป่งเทียม กำจัดวัชพืช ณ บริเวณ โป่งสลัดได อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ที่มาของการจัดโครงการ ก้าว...เพื่อความดีด้วยศาสตร์พระราชา คืนผืนป่าให้ช้าง นั้น ทางมหาวิทยาลัยได้น้อมนำพระราชดำรัชของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 ต่อการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ความว่า “...ช้างป่าควรอยู่ป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติคือการให้ไปสร้างอาหารให้ช้างในป่าเป็นแปลงเล็กๆ และกระจาย กรณีช้างป่าออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า”

การจัดโครงการในครั้งนี้เป็นการสร้างแปลงต้นแบบในการปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เป็นการบูรณาการรายวิชาศาสตร์พระราชากับการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่การเรียนการสอนอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นการขยายผลความสำเร็จจากไร่มะขามโมเดลสู่การถ่ายทอดแก่นักศึกษาและชุมชน ซึ่งพันธุ์ข้าวที่ได้จากโครงการจะนำเข้าโรงสีแห่งความสุข โรงสีชุมชนตำบลไร่มะขาม อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เพื่อให้นักศึกษาคณะต่างๆ ได้เข้ามาค้นคว้า แปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ใช้แกลบอัดเป็นวัสดุใช้ในสำนักงาน ใช้ข้าวในการทำเซรั่มเกี่ยวกับความงาม ใช้พื้นที่ในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นต้น

พระราชดำรัชข้างต้นนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษากลุ่มจิตอาสาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ที่จะก้าวเพื่อความดีเป็นนักจิตอาสา “เราทำดีด้วยหัวใจ” น้อมนำหลักทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ร่วมแรงร่วมใจลงพื้นที่ ปลูกหญ้าให้เป็นอาหารแก่ช้างในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

https://www.pbru.ac.th/index.php/news-pbru/public-relations/item/1894-education

Popular Post