มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี แก้ไขปัญหาช้างป่าที่เข้ามาเก็บกินพืชผลทางการเกษตร

ข่าวสื่อสารองค์กร
มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี แก้ไขปัญหาช้างป่าที่เข้ามาเก็บกินพืชผลทางการเกษตร

จังหวัดเพชรบุรีอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้มีสัตว์ป่าเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพะช้างป่า ที่ปัจจุบันได้สร้างปัญหาให้กับประชาชนที่มีที่ดินทำกินติดอยู่กับชายป่า เนื่องจากได้เข้ามาทำลายกัดกินพืชผลทางการเกษตร

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ นำโดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้มีแนวคิดในการหาวิธีการป้องกันปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้รองศาสตราจารย์ ดร.บัญญัติ ศิริธนาวงศ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และผู้ที่เกี่ยวข้องศึกษาพืชที่สามารถไล่ช้างได้ นั่นก็คือ กะลังตังช้างหรือช้างร้อง ซึ่งเป็นต้นไม้พุ่มขนาดใหญ่ มีขนสีขาวออกหนาตลอดต้น หากไปสัมผัสขนก็จะคายพิษออกมา จะมีอาการคัน อาการแสบร้อน บวม ขณะนี้ได้ประสานกับสำนักงานอุทยานแห่งชาติกุยบุรีเพื่อนำต้นกะลังตังช้างมาศึกษาวิจัยที่คณะเทคโนโลยีเกษตร จากนั้นจะทดลองนำไปใช้ในพื้นที่จริงที่โรงเรียนอานันท์ ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนกองทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของรั้วรังผึ้ง เป็นการเลี้ยงผึ้งบนแนวรั้วที่ช้างเดินผ่าน เป็นการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านของชาวแซมบุรู ประเทศเคนยา ช้างป่าจะวิ่งหรือเดินหนี และออกห่างจากฝูงผึ้ง รังผึ้งและพื้นที่ที่มีผึ้งอาศัยอยู่ คลื่นเสียง ความถี่ต่ำของการบินของผึ้งมีผลต่อการระแวดระวังภัยของช้าง ผึ้งจะบินวนรอบๆ ที่ ดวงตา ปลายงวงและบริเวณผิวหนังที่บางตรงส่วนหูของช้างป่า ซึ่งเป็นจุดที่ทําให้ช้างป่าเกิดความเจ็บปวดและรําคาญได้ ในส่วนการทำรั้วรังผึ้งจะได้นำมาศึกษาวิจัยที่คณะเทคโนโลยีเกษตรเช่นกัน และนำผลการศึกษาไปทดลองใช้ร่วมกับหน่วยราชการและชุมชนในพื้นที่ที่ช้างผ่านต่อไป

#รายงานโดย กลุ่มงานสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

Popular Post